สวัสดีครับ
เมื่อไม่นานมานี้ เราเพิ่งได้เรียนรู้วิธีการจำแนกพลอยทับทิม(Ruby)สังเคราะห์ หรือที่คนในวงการพลอยทั่ว ๆ ไปเรียกกันว่า พลอยอัด (synthetic stone) ออกจากพลอยทับทิมธรรมชาติ พลอยจริง ( Authentic ruby or Natural ruby)
ก่อนอื่น ต้องขอเกริ่นที่มาซะก่อน ว่าทำไมถึงต้องมีการแยกพลอยอัดและพลอยจริง (เราขอเรียกพลอยอัดก็แล้วกันนะ เพราะมันคุุ้นปาก) ทุกคนคงเคยได้ยินชื่อพลอยว่าทับทิมบ้างไม่มากก็น้อย หรือ ทับทิมสยาม ซึ่งเป็นพลอยตระกูลคอรันดัม (corrundum) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในตระกูลพลอยทับทิม และทับทิมนั้นก็จัดเป็นพลอยตระกูลที่หาได้ยาก ดังนั้นแล้วมูลค่าจึงสูงไปด้วย อยากรู้ว่าสูงแค่ไหน ลองนั่งนึกดูก็ได้ว่า พลอยทับทิมพม่า ถ้าน้ำหนักประมาณ ๓ กะรัต ( ๕ กะรัต = ๑ กรัม ) ไฟพลอยสมบูรณ์ สีแดงเลือดนก ไม่มีตำหนิ ราคาในตลาดก็เริ่มตั้งแต่ ๗ หลักถ้วน และราคานี้สามารถที่จะขายได้ไม่ยากซะด้วย เพราะพลอยชนิดนี้ ถ้าสวย ๆ ล่ะก็หายากมาก ๆ ถ้าลองนั่งนึก ๆ ดู พลอยเม็ดกระจิ๊ดเดียว แต่ราคาแพงหูฉี่ ดังนั้นถึงมีคนมากมายที่เสาะหาพลอยเหล่านี้เพื่อมาป้อนให้กับตลาด แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง การหาพลอยที่มาทำได้คุณภาพเท่ากับที่ได้อ่านไปนั้น มันไม่ได้หากันได้ง่าย ๆ น่ะสิ จึงมีคนกลุ่มหนึ่ง (แต่ความจริงก็ไม่ใช่กลุ่มเดียวกันหรอก และไม่ได้มีแต่คนไทยด้วย) ที่ได้นำพลอยอัดซึ่งผ่านการเจียระไน หรือยังไม่ได้เจียระไนมาขายในตลาด โดนคิดเพียงแค่ว่าถ้าหากมีใครโดนเขาเหล่านั้นหลอกได้ซักครั้ง คงจะตั้งตัวได้ในทันที แต่ความจริงแล้ว การจำแนกพลอยโดยปรกติ คนที่ชำนาญเค้าเพียงแค่มองด้วยตาเปล่า โดยเอามาส่องกับไฟฉาย หรือ ส่องกล้องดูพลอย เขาก็สามารถอนุมานได้ว่าพลอยเม็ดที่เขากำลังจับอยู่นั้นเป็นพลอยธรรมชาติ หรือพลอยปลอม หรือท้ายที่สุด ถ้าไม่สามารถฟันธงจากประสบการณ์ส่วนตัวได้ ก็จะส่งเข้าแลปเพื่อยืนยันสถานะพลอยว่าเป็นของจริงหรือพลอยอัด
แต่ภูมิปัญญาที่เล่า ๆ มานั้น มันก็เป็นวิธีที่เค้าใช้กันมานมนานตาปี ซึ่งสำหรับพลอยทับทิมนั้น การจำแนกสามารถทำได้อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้เราก็ไม่เคยได้เห็นจากตำราเล่มใดมาก่อน วิธีนี้ก็คือ "การเอาพลอยทับทิมเม็ดนั้นมาส่องไฟฉาย และให้ดูผ่าน filter film" พลอยเม็ดที่เป็นพลอยอัดจะมีการเปล่งแสง (คล้าย ๆ กับสีของปากกาสะท้อนแสง แต่เป็นสีแดง) ได้มากกว่าพลอยจริง ซึ่งวิธีนี้นั้น เมื่อเราได้ทดลองทำดู โดยการนำพลอยทับทิมธรรมชาติ และทับทิมอัดซึ่งมีสีใกล้เคียงกันมากเมื่อมองด้วยตาเปล่า มาวางไว้ใกล้ ๆ กัน แล้วเราก็เอาไฟฉายไปส่องทั้งสองเม็ด และมองพลอยทั้งสองเม็ดนั้นผ่านฟิล์ม ผลปรากฏว่า พลอยอัดนั้นจะสะท้อนแสงได้มากกว่าพลอยธรรมชาติ สีของพลอยธรรมชาติ เมื่อมองผ่านฟิล์มจะดูตื้อ ๆ ทึม ๆ ไม่เปล่งซักเท่าไหร่เมื่อเทียบกับทับทิมอัด
ความจริงแล้ว วิธีนี้เป็นวิธีดูพลอยที่คนไทยที่ไปซื้อพลอยดิบที่มาดากัสการ์เป็นคนสอนเรา เพราะทับทิมที่นั่นนั้นมีทั้งของธรรมชาติและของปลอม ของธรรมชาติคงไม่ต้องบอกว่าเกิดจากอะไร แต่ของปลอมเนี่ย มีทั้งคนไทยและคนอินเดียร่วมด้วยช่วยกันเอาพลอยปลอมไปเร่ขายที่นั่น เพราะที่มาดากัสการ์นั้นไม่มีศูนย์ตรวจคุณภาพพลอยที่เป็นมาตรฐานสักเท่าใดนัก ดังนั้นแล้วคนไทยที่ไปซื้อพลอยที่นั่นจริงต้องมีวิชาต่าง ๆ ติดตัวกันไปพอสมควร ไม่งั้นอาจจะขาดทุนเอาได้ง่าย ๆ และวิธีนี้ก็เป็นภูมิปัญญาโดยแท้จริง เพราะไม่มีสถาบันไหนบัญญัติวิธีการดูทับทิมอย่างนี้มาก่อน หากใครสนใจสามารถลองเอาไปทดลองทำดูได้นะครับ
สุดท้ายนี้ หากมีใครอยากแชร์ประสบการ์เกี่ยวกับอัญมณี สามารถเม้นต์ได้นะครับ ถ้าสามารถตอบได้จะตอบให้
postpolish
สัพเพเหระเกี่ยวกับอัญมณี ร้านอาหาร หนังสือ ไลฟ์สไตล์ ฯลฯ
เกี่ยวกับผม
- PostPolish
- PostPolish ได้มาจากแนวคิดที่ว่า อัญมณีดิบจะสำเร็จทางมูลค่าอย่างสูงก็ต่อเมื่อได้มีการเจียระไนแล้ว เปรียบกับข้อความที่ได้ถูกนำเสนอนั้น จะมีคุณค่ามากเมื่อมีการนำมาปรับแต่งให้เหมาะต่อการนำเสนอ ฉันใดฉันนั้น
เรื่องของเรื่อง
- ในหลวง (1)
- อัญมณี (3)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น